การสำรวจตนเอง

ผศ.วินัย  เพชรช่วย

      การสำรวจตนเอง หมายถึง การรับรู้สภาพการดำรงชีวิต ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่าอยู่ในสภาวะที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่หรือไม่ เช่น มีความลำบากกาย ลำบากใจ มีความสับสนวุ่นวายใจ หรือภาวะเครียด หรือความจำเป็นด้านใดบ้าง การพิจารณาสภาพปัญหา หรือความต้องการของตน มีประโยชน์ต่อการกำหนดลักษณะปัญหา หรือพฤติกรรมเป้าหมายในการพัฒนาตนต่อไป การรับรู้สภาวะแห่งตนในด้านต่างๆ จำเป็นต้องมีความถูกต้องชัดเจน ซึ่งได้จากการประเมินตนเองด้านต่างๆ ดังนี้

  • เกี่ยวกับสภาพทางกาย
  • สุขภาพร่างกาย พิจารณาว่ามีความสมบูรณ์เพียงใด อวัยวะทุกส่วนทำหน้าที่ประสานกัน ได้ดีมากน้อยเพียงใด ส่วนสูงและน้ำหนักเป็นไปตามมาตรฐาน เพศ วัย และเผ่าพันธุ์เพียงใด มีอาการไม่ปกติหรือโรคประจำตัวอะไรบ้าง การสำรวจร่างกายบางอย่าง ทำได้ด้วยตนเอง ในบางเรื่องต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ตรวจสมดุลของระบบในร่างกาย และภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

    กิริยาท่าทาง พิจารณาลักษณะการแสดงออกทางกาย ที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ท่าทางเป็นมิตร หรือไม่เป็นมิตรกับผู้อื่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพกับบุคคล และงานอาชีพ หรือกิจกรรมบางอย่าง การพิจารณากิริยาท่าทางของตน มีผลดีต่อการปรับปรุงตนให้เหมาะสมกับงาน หรือเลือกงานให้เหมาะสมกับลักษณะท่าทางของตนเอง

    บุคลิกภาพโดยรวม พิจารณาว่าเป็นแบบใด เป็นคนเปิดเผยหรือเก็บตัว มีลักษณะผู้นำหรือผู้ตาม ชอบทำงานกับผู้อื่น หรือทำงานกับวัตถุสิ่งของ ชอบเสี่ยงหรือวิตกกังวล เป็นต้น

  • เกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจ
  • สุขภาพจิต พิจารณาว่ามีความอดทนต่อปัญหา หรือความผิดหวังได้เพียงใด มีความคับข้องใจ หรือเบิกบานใจ เมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหา ในชีวิตและการทำงาน แก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์หรือทำลาย แม้การประเมินสุขภาพจิต เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ แต่ทุกคนอาจสังเกต และทำความเข้าใจตัวเองได้บ้างในระดับหนึ่ง

    อุปนิสัยใจคอ คือการประพฤติปฏิบัติ ที่กระทำซ้ำๆ ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน มีทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม เช่น ความละเอียดรอบคอบ ความสะเพร่า การตรงต่อเวลา การผัดวันประกันพรุ่ง ความขยันขันแข็ง ความเกียจคร้าน เป็นต้น

    การควบคุมตน คือ การมีวินัยในตนเอง มีความสามารถในการควบคุมตน ให้กระทำในสิ่งที่ต้องการตามเป้าหมาย ได้หรือไม่ ทำอะไรตามใจตนเอง หรือคล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย จะแสดงถึงระดับความเข้มแข็งของจิตใจ ผู้ที่ควบคุมตนได้จะพัฒนาตนได้เสมอ

  • เกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม
      • ความสามารถทั่วไปในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น
      • ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร
      • ทำงานหรือกิจกรรมร่วมกันผู้อื่น ได้ดีเพียงใด หรือมีข้อขัดแย้งอยู่เสมอ
  • เกี่ยวกับสติปัญญา
  • ความรู้ทั่วไป สามารถนำความรู้อ้างอิง มาประกอบการทำงาน หรือกิจการของตนได้มากเพียงใด แสวงหาความรู้จาก การอ่าน ฟัง พูดคุยกับคนอื่นเพียงใด หรือสามารถหาแหล่งความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้มากน้อยเพียงใด

    การตัดสินใจและการแก้ปัญหา ตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยใช้ข้อมูลอย่างรอบคอบ หรือวู่วามด้วยอารมณ์ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หรือทำลาย

    การบริหารเวลา กำหนดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของเรื่องที่ต้องทำ หรือตัดสินใจได้เหมาะสมเพียงใด

    ความสามารถพิเศษ มีอะไรบ้าง

    การวิเคราะห์จุดเด่น-จุดบกพร่อง

         เป็นการทำความเข้าใจผลการประเมินสภาพทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม สติปัญญา และความสามารถ จากการสำรวจตนเอง เพื่อจำแนกลักษณะทางบุคลิกภาพ หรือลักษณะนิสัยและพฤติกรรม ที่ส่งเสริมชีวิตที่ดี และลักษณะที่เป็นปัญหา หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต และการบรรลุเป้าหมายในชีวิต การวิเคราะห์จุดเด่น-จุดบกพร่อง จะทำให้สามารถกำหนดเป้าหมาย หรือทิศทางในการพัฒนาและปรับปรุงตน ว่าจะลดหรือหยุดพฤติกรรมเก่า ที่ไม่เหมาะสมทั้งหมดหรืออะไรบ้าง จะรักษาพฤติกรรมที่ดีอยู่แล้วไว้ และเสริมแต่งให้ชัดเจนมากขึ้นอย่างไร นอกจากนี้ยังช่วยให้เห็นแนวทาง ว่าจะสร้างหรือพัฒนาพฤติกรรมใหม่ ลักษณะใหม่ๆ อะไรขึ้นมาบ้าง

         การวิเคราะห์จุดเด่น-จุดบกพร่องนี้ นอกจากวิเคราะห์ด้วยตนเองแล้ว ควรให้บุคคลใกล้ชิดที่รู้จักตัวเราดี เป็นผู้วิเคราะห์ด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร

    ตัวอย่าง
    การวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ของนักศึกษาคนหนึ่ง

     วิเคราะห์ตนเอง

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    ขยัน
    จริงใจกับคนที่ดีด้วย
    มีความรับผิดชอบ เสียสละ
    วางตัวเป็นกลาง
    ชื่อสัตย์สุจริต
    มีเมตตากรุณา
    มองคนในแง่ดี คิดทางบวก
    เอาใจเขามาใส่ใจเรา
    มีความอดทนเพื่ออนาคต
    บริหารเวลาได้ดี
    ไม่รับปากสิ่งที่ทำไม่ได้

    เป็นคนเจ้าอารมณ์
    น้อยใจเก่ง
    ไม่ค่อยยืดหยุ่น
    มีความลังเลในการตัดสินใจ
    เงียบ คิดมาก และไม่ค่อยพูด
    มีอารมณ์อ่อนไหว
    เฉื่อยชาในบางครั้ง
    ขี้สงสัยและลืมง่าย

    การควบคุมอารมณ์
    ปรับปรุงการพูดและการสนทนา
    พัฒนาความมั่นใจในตนเอง
    เมื่อเผชิญกับปัญหาต้องกล้าเสี่ยง
    ฝึกความกระตือรือร้นให้มากขึ้น

     ผู้ปกครองวิเคราะห์

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    ขยัน
    ซื่อสัตย์

    ดื้อรั้น
    ไม่ฟังความเห็นจากบุคคลอื่น
    ใจน้อย
    ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
    ไม่ค่อยแสดงออก
    ไม่ร่าเริงแจ่มใสเท่าที่ควร

     

     พี่สาวคนที่ 1 วิเคราะห์

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    เป็นคนมองโลกในแง่ดี
    ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
    มีจิตใจดี
    รักพี่น้อง
    กตัญญู
    มีความรับผิดชอบ

    ใจน้อย
    จิตใจไม่มั่นคง
    เป็นคนคิดมาก

    ควรมีความหนักแน่นมากขึ้น
    เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง

     พี่สาวคนที่ 2 วิเคราะห์

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    เป็นคนใจเย็น สุขุม
    ทำงานบ้านเก่ง สะอาด เรียบร้อย
    กิริยามารยาทเรียบร้อย
    รู้จักใช้เงินในทางที่ถูกที่ควร
    ยอมรับฟังคำตักเตือนของคนอื่น
    กตัญญูรู้คุณ รักพี่น้อง ครอบครัว

    ขาดความมั่นใจในตัวเอง
    ดื้อเงียบ
    มักมีความวิตกกังวล

    พัฒนาความเชื่อมั่นให้มากขึ้น
    ฝึกให้กล้าคิด กล้าทำในความเห็นที่ถูกต้องของตน

     เพื่อนร่วมชั้นเรียนวิเคราะห์

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    ตั้งใจเรียน
    เข้ากับผู้อื่นได้ดี
    มีน้ำใจกับเพื่อนๆ
    เรียบร้อย
    พูดจาไพเราะ

    ไม่ค่อยพูด
    ไม่ค่อยแสดงออก
    ขาดความมั่นใจ

    ควรพูดคุยกับคนอื่นให้มากกว่านี้
    ควรกล้าแสดงออกในชั้นเรียน
    ควรมีความมั่นใจในตัวเอง

    ประมวลผลรวมการวิเคราะห์

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    ข้อควรพัฒนา

    • เป็นคนขยัน
    • เป็นคนซื่อสัตย์
    • มีความรับผิดชอบ
    • มีความเสียสละ
    • มีความกตัญญู
    • ประหยัด
    • มีสัมมาคารวะ
    • ใจน้อย ขี้งอน
    • ไม่ค่อยพูด
    • ไม่มีเหตุผลในบางครั้ง
    • ไม่เชื่อมั่นในตนเอง
    • ไม่กล้าแสดงออก
    • พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง
    • ควบคุมอารมณ์ให้มากขึ้น
    • ฝึกหัดให้กล้าแสดงออก
    • ฝึกการใช้เหตุผลให้มากขึ้น

    เอกสารอ้างอิง

  • คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร (สรภ) (2542), เอกสารประกอบการศึกษาวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน. กรุงเทพฯ: สดใสการพิมพ์.
  • ปรีญา สุวรรณจันทร์ (2543), รายงานโครงการพัฒนาตนเอง. สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.