คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา 


       คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก พระไตรปิฎก แปลว่า "ปิฎกสาม" ปิฎก แปลตามศัพท์พื้น ๆ ว่ากระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่าง ๆ เข้าไว้นำมาใช่ในความหมายว่าเป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้วโดยในนี้ไตรปิฎกจึงแปลว่าคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ ๓ ชุดหรือประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด  กล่าวคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก

พระไตรปิฎก 

เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนา ซึ่งรวบรวมคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า ไว้เป็นหมวดหมู่ แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎก ด้วยกันคือ
          ๑. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของ ภิกษุและภิกษุณี
          ๒. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาโดยทั่วไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ
          ๓. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ

แผนผังพระไตรปิฎก

พระวินัยปิฎก มีอยู่ ๕ หมวดด้วยกันคือ
         ๑. มหาวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ ๆ ของพระภิกษุเป็นศีลของภิกษุที่มาในปาติโมกข์
         ๒. ภิกษุณีวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัย ของพระภิกษุณี
         ๓. มหาวัคค์ ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย แบ่งออกเป็นขันธกะ๑๐ หมวด
          ๔. จุลลวัคค์ ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัย ความเป็นมาของพระภิกษุณีและประวัติการทำสังคายนา แบ่งออกเป็นขันธกะ ๑๒ หมวด
          ๕. บริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความ วินิจฉัยปัญหาใน ๔ เรื่องข้างต้น

พระสุตตันตปิฎก มีอยู่ ๕ หมวดด้วยกันคือ
          ๑. ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว มี ๓๔ สูตร
          ๒. มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดกลาง ไม่ยาวและไม่สั้นเกินไป
มี ๑๕๒ สูตร
          ๓. สังยุตตนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนา ที่ประมวลธรรมะไว้เป็นพวก ๆ เรียกว่า สังยุต เช่นกัสสปสังยุต ว่าด้วยเรื่องของพระมหากัสสป โกศลสังยุต ว่าด้วยเรื่องในแคว้นโกศล มัคคสังยุต ว่าด้วยเรื่องมรรคคือข้อปฎิบัติ เป็นต้น มี ๗,๗๖๒ สูตร
          ๔. อังคุตตรนิกาย ว่าพระพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวน เช่น ธรรมะหมวด ๑ ธรรมะหมวด ๒ ธรรมะหมวด ๑๐ แต่ละข้อก็มีจำนวนธรรมะ ๑, ๒, ๑๐ ตามหมวดนั้น มี ๙,๕๕๗ สูตร
          ๕. ขุททกนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวก ประวัติต่าง ๆ และชาดก รวบรวมหัวข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน ๔ หมวดข้างต้น แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่มี ๑๕ เรื่อง

พระอภิธรรมปิฎก แบ่งออกเป็น ๗ เรื่องด้วยกันคือ
               ๑. ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะ รวมเป็นหมวดเป็นกลุ่ม
               ๒. วิภังค์ ว่าด้วยธรรมะแยกเป็นข้อ ๆ
               ๓. ธาตุกถา ว่าด้วยธรรมะจัดระเบียบความสำคัญโดยถือธาตุเป็นหลัก
               ๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล
               ๕. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบในหลักธรรม จำนวนหนึ่งประมาณ ๒๑๙ หัวข้อเพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
               ๖. ยมก ว่าด้วยธรรมะที่รวมเป็นคู่ ๆ
               ๗. ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุน ๒๔ อย่าง 


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก 

        ๑. พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย สมัยเมื่อนิครนถ์ นาฎบุตร เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระเกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ในพระพุทธศาสนา จึงพร้อมกับพระอานนท์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสบอกพระจุนทะ ให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นต่อไป

        ๒. พระสารีบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมจบแล้ว ได้มอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมต่อ พระสารีบุตรได้แนะนำให้รวบรวม ร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่ในหมวดนั้น ๆ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เห็นว่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังธรรมต่อไปอีก พระองค์จึงได้มอบหมายให้พระสารีบุตร แสดงธรรมแทน พระสารีบุตรได้ แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมะใดบ้างอยู่หมวด ๑ หมวด ๒ จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

        ๓. พระมหากัสสป เป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่

       ๔. พระอานนท์ เป็นผู้ที่ทรงจำพระพุทธวรนะไว้ได้มาก เป็นพุทธอุปฐาก ได้ขอพร หรือขอรับเงื่อนไขจาก พระพุทธเจ้า ๘ ประการ ในเงื่อนไขประการที่ ๗ และประการที่ ๘ มีส่วนช่วยในการ สังคายนาพระธรรมวินัยมาก กล่าวคือ ประการที่ ๗ ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ประการที่ ๘ ถ้าพระองค์แสดงข้อความอันใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้ว จักตรัสบอกข้อความอันนั้น แก่ข้าพระองค์ ทั้งนี้โดยเฉพาะประการที่ ๘ อันเป็นข้อสุดท้ายมีเหตุผลว่า ถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลัง พระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาดแสดงที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสดาไปดุจเงาตามตัว แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่รู้ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์จึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ในคราวสังคายนาครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือนในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเรื่องราวไว้ เป็นตัวอักษรอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน มนุษย์จึงต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องสำคัญ ในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากนี้ เรียกว่า มุขปาฐะ

        ๕. พระอุบาลี เป็นผู้ที่สนใจและจดจำพระธรรมพระวินัยได้เป็นพิเศษ มีความเชี่ยวชาญใน พระวินัย ในการทำสังคายนาครั้งแรก พระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับ พระวินัยปิฎก
  
        ๖. พระโสณกุฎิกัณณะ เป็นผู้ที่ทรงจำได้ดีมาก เคยท่องจำบางส่วนของ พระสุตตันตปิฎก เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมากรวมทั้งท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะ สละสลวย แสดงให้เห็นถึง การท่องจำพระธรรมวินัย ได้มีมา
ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า 

นอกจากนี้ยังมียังมีตำราพุทธศาสนาที่แสดงคำสอนเป็นลำดับ ได้แก่ 
      ๑.อรรถกถา เป็นตำราอธิบายพระไตรปิฎกซึ่งแต่งโดยอาจารย์ ในกาลต่อมา ที่เรียกว่า พระอรรถกถาจารย์ เป็นเนื้อความสอนชั้นที่ ๒ รองจากพระไตรปิฎก
      ๒.ฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความอรรถกถา ซึ่งแต่งโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระฎีกาจารย์ ถือเป็นตำราชั้นที่ ๓ 
      ๓.อนุฎีกา เป็นตำราอธิบายขยายความดีกา หรือเรื่องเกร็ดย่อยเบ็ดเตล็ด ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ที่เรียกว่า พระอนุฎีกาจารย์ เป็นตำราชั้นที่ ๔ 

นอกจากนั้นยังมีเพิ่มเข้าอีก 5 คัมภีร์ คือ
        ๑. มธุ ได้แก่ คัมภีร์ปรับปรุงใหม่ให้มีรสหวานปานนำผึ้ง
        ๒. กนิษฐคันถะ ได้แก่ คัมภีร์นิ้วก้อย ซึ่งเป็นฎีกาอรรถกถานิ้วก้อย
        ๓. คัณฐิ ได้แก่ คัมภีร์ชี้เงื่อนหรือปมสำคัญ
        ๔. คันถันตระ ได้แก่ คัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก 
        ๕. โยชนา ได้แก่ คัมภีร์แสสสดงการสร้างประโยคและแปลความหมายของภาษาบาลี


>>

<<

!!