จุดเด่นและความเป็นมาโดยสังเขปของศาสนาพุทธ (Buddhism)


ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มศาสนาสากล  เป็นศาสนาที่มีแหล่งกำเนิดในเอเซียใต้ คือ อินเดีย มีผู้นับถือหลายประเทศ เช่น ไทย ลังกา ทิเบต เนปาล เขมร ลาว เกาหลี จีน เวียตนาม อินเดีย และ บางส่วนของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา สถิติ ผู้นับถือประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ล้านคน

           พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยพระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบความจริงนั้น แล้วนำมาชี้แจงเปิดเผยบอกเล่าให้เข้าใจชัดขึ้น ความจริงหรือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้เป็นของกลางสำหรับทุกคน เพียงแต่ใครจะค้นพบหรือไม่เท่านั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ประดิษฐ์หรือคิดขึ้นตามอารมณ์เพ้อฝัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ความจริงในลักษณะ ๓ อย่าง คือ รู้ความวามจริง  รู้หน้าที่อันควรทำเกี่ยวกับความจริงนั้น  และรู้ว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ตราบนั้น พระองค์ก็ยังไมอาจกล่าวได้ว่าตรัสรู้แล้ว ข้อความจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ความจริงนั้นพระองค์ได้ลงมือปฏิบัติจนค้นพบประจักษ์แล้ว พระองค์จึงได้นำมาสั่งสอน เพระาฉะนั้นคำสั่งสอนของพระองค์ที่เรียกว่า พุทธศาสนาจึงเป็นหลักคำสอนที่เกี่ยวกับความจริงที่มีเหตุผลสมบูรณ์ผ่านการพิสูจน์ทดลองมาแล้ว ไม่มีคำว่า "เดา" หรือ "สันนิษฐาน" ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นความจริงที่ได้ค้นประจักษ์ชัดแล้วจึงใช้ได้และเป็นวิถีทางแห่งการตรัสรู้ อันจะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

           พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิรูป เพราะเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ในโลก ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปทั้งศาสนาแลละสังคม กล่าวคือ ศาสนาต่าง ๆที่มีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ต่างก็สอนเรื่องพระเจ้า ให้นับถืออ้อนวอนพระเจ้า และสอนให้เกิดการนับถือชนชั้นวรรณะ มีการแบ่งชั้นวรรณะ  ส่วนพุทธศาสนา ประกาศตัวเป็น "อเทวนิยม" ไม่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าหรือพรหมองค์ใดเลย และสอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นคนดี ควรยกย่องสรรเสริญ ตรงข้ามถ้าล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้เกิดในสกุลสูงก็นับว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ นอกจากนี้หลักสัจธรรมทางพุทธศาสนายังมีเป้าหมายคือ มุ่งแก้ไขความทุกข์ร้อนของสังคม นับตั้งแต่ส่วนบุคคล ครอบครัว จนถึงโ,กส่วนรวม กฎหมายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับคุ้มครอ
งและควบคุมพฤติกรรมของส่วนบุคคลของครอบครัว ศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาบุคคล สังคมให้ดำรงอยู่อย่างสันติสุข รวมทั้งที่จะให้บรรลุถึงความหวังที่จะพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงด้วย

          ในแง่ของการวิเคราะห์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักวิภชวาท ประกาศคำสอนเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟัง  โดยการจำแนกแจกแจงหลักธรรมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นลักษณะคำสอนของพุทธศาสนา จึงเป็นการวิเคราะห์ออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุม และประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น เช่น ถ้าจะอธิบายธรรมะข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถอธฺบายเกี่ยวโยงไปถึงธรรมะข้ออื่น ๆ ได้อย่างมีระบบ และสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในบรรดาศาสนาอื่นๆ ที่มีการวิเคราะห์แล้ว พุทธศาสนานับว่าเป็นเด่นในเรื่องนี้.










 

>>

<<

!!